เทคนิคในการทำผลงานทางวิชาการ

 

เทคนิคในการทำผลงานทางวิชาการ : เทคนิคพื้นฐานสำหรับการทำผลงานวิชาการ

 

* ศาสตราจารย์ ดร.วิโฬฏฐ์  วัฒนานิมิตกูล

 

ในเบื้องต้นก่อนที่จะได้นำเสนอรายละเอียดของเทคนิคในการทำผลงานทางวิชาการ ผู้เขียนขอกำหนดนิยามของคำว่า “เทคนิคในการทำผลงานทางวิชาการ” ที่ใช้ในบทความนี้ ดังนี้

           เทคนิคในการทำผลงานทางวิชาการ หมายถึง กลวิธีต่าง ๆ ที่ใช้เสริมกระบวนการ หรือขั้นตอน หรือการกระทำใด ๆ เพื่อช่วยให้กระบวนการ ขั้นตอนหรือกิจกรรมการทำผลงานทางวิชาการนั้น ๆ มีคุณภาพและประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

           จากนิยามดังกล่าว ในการนำเสนอเทคนิคการทำผลงานทางวิชาการในครั้งนี้ จึงเป็นการบอกเล่าถึง กลวิธีต่าง ๆ ที่ผสมผสานไปกับกระบวนการหรือขั้นตอนต่าง ๆ ในการทำผลงานทางวิชาการที่ต้องจัดกระทำอยู่แล้ว หากแต่เพิ่มกลไกบางอย่างเข้าไปเพื่อให้เกิดคุณภาพและประสิทธิภาพสูงขึ้น

          สำหรับเทคนิคพื้นฐานสำหรับการทำผลงานทางวิชาการนั้น ขอนำเสนอใน 2 เทคนิค คือ 1)เทคนิคการเตรียมความพร้อมในการจัดทำผลงานทางวิชาการ 2) เทคนิค “การกำหนดหัวใจความสำเร็จ” โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

         1. เทคนิคการเตรียมความพร้อมในการจัดทำผลงานทางวิชาการ


         เทคนิคการเตรียมความพร้อมในการจัดทำผลงานทางวิชาการนับว่าเป็นเทคนิคพื้นฐานที่ผู้จัดทำผลงานทางวิชาการสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อสร้างความพร้อมให้แก่ตนเองก่อนที่จะเริ่มลงมือจัดทำผลงานทางวิชาการ  ประกอบด้วย 3 ขั้น ดังนี้

                 ขั้นที่ 1 การเรียนรู้และทำความเข้าใจ

                    ในขั้นนี้ผู้จัดทำผลงานทางวิชาการต้องศึกษา ทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์วิธีการแต่งตั้งให้บุคคลดำรงตำแหน่งทางวิชาการ แบบฟอร์มต่าง ๆที่เกี่ยวข้อง เช่น แบบคำขอรับการพิจารณากำหนดตำแหน่งทางวิชาการ (ก.พ.อ.03) เป็นต้น  ลักษณะของผลงานทางวิชาการประเภทต่าง ๆ  รวมทั้งแบบประเมินผลงานทางวิชาการ เพื่อให้มีความชัดเจนในการนำไปวางแผนการปฏิบัติงาน

                 ขั้นที่ 2 การวางแผนทำผลงานทางวิชาการ

                     ในขั้นนี้ผู้จัดทำผลงานทางวิชาการต้องกำหนดขอบข่ายของงานที่จะทำว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง งานในแต่ละส่วนต้องทำอะไร อย่างไรบ้าง และต้องใช้เวลานานเท่าไรในการจัดทำ โดยอาจจัดทำในรูปของแผนปฏิบัติการเพื่อใช้เป็นกรอบในการดำเนินการที่ชัดเจนทั้งในรายการปฏิบัติและช่วงเวลาในการปฏิบัติงาน

                 ขั้นที่ 3 การลงมือปฏิบัติงานตามแผน

                     ในขั้นนี้ผู้จัดทำผลงานทางวิชาการดำเนินการตามแผนที่กำหนดไว้อย่างต่อเนื่อง หมั่นตรวจสอบการดำเนินงานให้เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนด อย่างไรก็ตามสามารถปรับหรือยืดหยุ่นแผนดังกล่าวได้ตามความเหมาะสม

         2. เทคนิค “การกำหนดหัวใจความสำเร็จ”

           ในทัศนะของผู้เขียนนั้นการทำผลงานวิชาการให้ประสบผลสำเร็จ ผู้ทำผลงานควรเข้าใจถึง “หัวใจของความสำเร็จการทำผลงานทางวิชาการ” ซึ่งนับว่าเป็นกลไกสำคัญที่จะเป็นทั้งปัจจัยพื้นฐาน กระบวนการ แรงผลักดัน และเงื่อนไขหลักที่นำพาความสำเร็จมาสู่ผู้ทำผลงานทางวิชาการ อย่างไรก็ตามหัวใจความสำเร็จดังกล่าวต้องได้รับการกำหนดจากผู้ทำผลงานวิชาการเอง ในที่นี้จะได้นำเสนอ “เทคนิคการกำหนดหัวใจความสำเร็จ” ดังนี้

                    ขั้นตอนที่ 1 การตั้งเป้าหมายและวางแผน ในขั้นนี้ขอให้ผู้จัดทำผลงานทางวิชาการปฏิบัติดังนี้

                       1.1  ศึกษาหลักเกณฑ์และและวิธีการต่าง ๆในการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ
จากประกาศ ก.พ.อ. ฉบับต่าง ๆที่เกี่ยวข้องกับการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ และข้อบังคับของสถาบันการศึกษา ว่าด้วย หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์

                       1.2  การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของการจัดทำผลงานทางวิชาการ โดยพิจารณาจากสาขาวิชาที่ขอกำหนดตำแหน่ง ประเภทของผลงานทางวิชาการ ขั้นตอน/ลำดับการทำผลงาน ประสบการณ์ที่สั่งสมมา เป็นต้น แล้วจึงกำหนดประเภทของผลงานที่จะจัดทำ

                       1.3  กำหนดเป้าหมายของการทำผลงานทางวิชาการ ทั้งในด้านปริมาณงานและระยะเวลา

                       1.4  จัดทำเป็น “แผนปฏิบัติการในการจัดทำผลงานทางวิชาการ” โดยระบุกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวกับการทำผลงานทางวิชาการ และช่วงระยะเวลาในการปฏิบัติเพื่อให้บรรลุตามที่กำหนดไว้

                   ขั้นตอนที่ 2  การปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการที่ตั้งไว้ ในขั้นนี้ขอให้ผู้จัดทำผลงานทางวิชาการได้ดำเนินตามขั้นตอนที่ระบุไว้ในแผนปฏิบัติการ  อย่างไรก็ตามในการทำผลงานทางวิชาการอาจมีปัจจัยต่าง ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งอาจส่งผลให้ในบางครั้งต้องปรับประยุกต์การปฏิบัติงานและมีความยืดหยุ่นเป็นกรณี ๆ ไป

                   อย่างไรก็ตามเพื่อให้แผนปฏิบัติการดังกล่าวมีความเป็นไปได้มากที่สุด ผู้จัดทำผลงานทางวิชาการอาจเพิ่มกลไกในการควบคุม เช่น การเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการจัดทำผลงานทางวิชาการของมหาวิทยาลัย คณะ หรือสาขาวิชาซึ่งจะต้องส่งแผนการปฏิบัติงาน และได้รับการตรวจสอบติดตาม เป็นต้น นอกจากนั้นในส่วนของผู้จัดทำผลงานทางวิชาการ ควรให้ความสำคัญต่อการตรวจสอบการปฏิบัติงานของตนเองตามแผนปฏิบัติการเป็นระยะ ๆ ด้วย

                   ขั้นตอนที่ 3  การประสานหน่วยปฏิบัติงาน งานกำหนดตำแหน่งวิชาการ

                   ในขั้นนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานตามวิธีการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ กล่าวคือ เป็นขั้นตอนที่ผู้จัดทำผลงานทางวิชาการต้องจัดทำเอกสารและผลงานทางวิชาการ  แบบคำขอ (ก.พ.อ.03) เอกสารประกอบการสอนหรือคำสอน และผลงานทางวิชาการต่าง ๆ จึงเป็นการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการกับ งานกำหนดตำแหน่งทางวิชาการของสถาบันการศึกษาในกิจกรรมดังต่อไปนี้

                       1)  การเสนอแบบคำขอกำหนดตำแหน่ง (ก.พ.อ.03)

                       2)  การนัดหมายการสอบประเมินความสามารถการสอน และเอกสารประกอบการสอน/หรือคำสอน

                       3)  การจัดส่งผลงานทางวิชาการไปนำเสนอผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งดำเนินการโดย งานกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ

                       4)  การประสานงานระหว่างผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการกับหน่วยงานปฏิบัติงานต่าง ๆ

                                                          ฯลฯ

                   ดังนั้นผู้จัดทำผลงานทางวิชาการควรศึกษาวิธีการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการให้เข้าใจชัดเจน เพื่อให้การประสานกับหน่วยปฏิบัติต่าง ๆ เป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็ว

                   ขั้นตอนที่ 4  การตั้งรับกับผลที่เกิดขึ้น (ด้วยความพร้อม)

                   ในขั้นนี้เป็นขั้นตอนสำคัญขั้นหนึ่งที่ผู้จัดทำผลงานทางวิชาการต้องเตรียมการเพื่อตั้งรับกับผลที่เกิดขึ้นด้วย ความมีสติและ มีกำลังใจกล่าวคือ ผลการพิจารณาของผู้ทรงคุณวุฒิประเมิน
ผลงานทางวิชาการอาจเกิดขึ้นทั้งในลักษณะประสบความสำเร็จ (ผ่านการประเมินคุณภาพตามเกณฑ์) หรือให้ปรับปรุงแก้ไข หรือไม่ผ่านการประเมิน ดังนั้น ผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการจึงควรพร้อมรับกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น กล่าวคือ “ยินดีเมื่อผลงานทางวิชาการผ่านการประเมิน” หรือ “ดำเนินการปรับปรุง/แก้ไขถ้าหากมีโอกาสนั้น ๆ” หรือ “ยิ้มสู้กับผลทางลบแล้วเดินหน้าต่อไปด้วยการตั้งเป้าหมาย และวางแผนที่จะเสนอผลงานทางวิชาการใหม่”

                   ผู้เขียนหวังว่า เทคนิคดังกล่าวข้างต้นทั้ง 2 เทคนิค จะเป็นกลไกหนึ่งที่เอื้ออำนวยในการจัดทำผลงานทางวิชาการให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพ อันจะส่งผลให้ทุกท่านประสบความสำเร็จในการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการตามที่มุ่งหวังไว้ทุกประการ



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

จัดทำตำราและหนังสืออย่างไรให้”โดนใจ”ผู้ประเมิน

เทคนิคการสร้างองค์ความรู้

เทคนิคการสร้างองค์ความรู้