จัดทำตำราและหนังสืออย่างไรให้”โดนใจ”ผู้ประเมิน
*ศาสตราจารย์ ดร.วิโฬฏฐ์ วัฒนานิมิตกูล
การดำรงตำแหน่งทางวิชาการในระดับผู้ช่วยศาสตราจารย์
รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ นับว่าเป็นเป้าหมายของคณาจารย์ในระดับอุดมศึกษาทุกท่าน ด้วยตำแหน่งดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความสามารถทางวิชาการ
ความเป็นปัจจุบันทางวิชาการ และที่สำคัญยิ่งคือ นับเป็น “เกียรติยศที่ยิ่งใหญ่”คู่ควรกับการเป็นคณาจารย์ของสถาบันอุดมศึกษาที่มีบทบาทโดยตรงในการสร้างองค์ความรู้และขยายวงความรู้ไปสู่การพัฒนาในวงวิชาการอย่างสมภาคภูมิ
อย่างไรก็ตาม “การจัดทำผลงานทางวิชาการ”
เพื่อก้าวเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ ก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องที่ง่ายดาย หากแต่เป็นเรื่องที่คณาจารย์ต้องใช้ความตั้งใจ
ความพยายาม ความอุตสาหะ ในการค้นคว้าหาความรู้ วิเคราะห์ สังเคราะห์
สร้างสรรค์ให้เกิดเป็นผลงานทางวิชาการที่ทรงคุณค่าสมกับตำแหน่งทางวิชาการที่ได้รับ โดยมี “ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินผลงานทางวิชาการ(Reader)” เป็นผู้ให้การตัดสินว่า
ผลงานทางวิชาการดังกล่าวจะ “โดนใจ”
โดยมีคุณภาพเหมาะสมกับระดับตำแหน่งทางวิชาการเพื่อการกำหนดตำแหน่งทางวิชาการนั้น ๆ
หรือไม่
สำหรับผลงานทางวิชาการที่คณาจารย์สามารถจะเลือกมาจัดทำเพื่อนำเสนอขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการนั้น
กำหนดไว้อย่างหลากหลายประเภทเพื่อให้ครอบคลุมศาสตร์ต่าง ๆ ที่เรียนรู้ในระดับอุดมศึกษา
ซึ่งตำราและหนังสือก็นับเป็นผลงานทางวิชาการประเภทหนึ่งที่คณาจารย์ให้ความสนใจจัดทำ
เนื่องจากมีความคุ้นชินกับการใช้ตำราและหนังสือมาก่อนตั้งแต่ในระหว่างการศึกษาเล่าเรียนและในระหว่างที่ปฏิบัติงานในบทบาทของคณาจารย์ ส่งผลให้ตำราและหนังสือถูกเลือกเป็นผลงานทางวิชาการที่จัดกระทำเพื่อขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ
จึงมักถึงคำถามอยู่เสมอว่า “จัดทำตำราและหนังสืออย่างไรให้โดนใจผู้ประเมิน”
ผู้เขียนในบทบาทของอาจารย์ผู้หนึ่งที่ได้มีโอกาสเป็นเลขานุการคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ
(ก.พ.ว.) ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่ดูแลการดำเนินงานตามประกาศ ก.พ.อ. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์
รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ พ.ศ.........มาอย่างต่อเนื่อง
ทำให้ได้พบเห็นประเด็นการพิจารณาของผู้ทรงคุณวุฒิประเมินผลงานทางวิชาการที่เราเรียกกันสั้น
ๆ ว่า “ผู้ประเมินหรือ Reader” ได้แสดงทรรศนะไว้อย่างหลากหลายเกี่ยวกับตำราและหนังสือ
ซึ่งผู้เขียนได้รวบรวมประเด็นเหล่านั้นมากำหนดเป็นคำถาม-คำตอบย่อย ๆ 5 ประการ เพื่อตอบคำถามหลักที่ว่า
“จัดทำตำราและหนังสืออย่างไรให้โดนใจผู้ประเมิน” ดังนี้
คำถามข้อที่ 1
ตำราและหนังสือมีความแตกต่างกันอย่างไร
คำตอบคือ หนังสือและตำรานับได้ว่าเป็นเครื่องมือที่ส่งต่อสาระความรู้ไปยังผู้อ่านภายใต้วัตถุประสงค์ในภาพรวมที่คล้ายคลึงกัน แต่จะแตกต่างกันอยู่ที่จุดเน้นในด้านสาระที่ปรากฎอยู่ในตำราและหนังสือตามนิยามความหมาย
ดังนี้
ตำรา หมายถึง
“งานวิชาการที่ใช้สำหรับการเรียนการสอนทั้งรายวิชา หรือเป็นส่วนหนึ่งของวิชา ซึ่งเกิดจากการนำข้อค้นพบจากทฤษฎี จากงานวิจัยของผู้ขอ
หรือความรู้ที่ได้จากการค้นคว้าศึกษา มาวิเคราะห์ สังเคราะห์
รวบรวมและเรียบเรียง โดยมีมโนทัศน์ที่ผู้เขียนกำหนดเป็นแกนกลาง
ซึ่งสัมพันธ์กับมโนทัศน์ย่อยอื่นอย่างเป็นระบบ
มีเอกภาพสัมพันธภาพและสารัตถภาพตามหลักการเขียนที่ดี ใช้ภาษาที่เป็นมาตรฐานทางวิชาการ และให้ความรู้ใหม่อันเป็นความรู้สำคัญที่มีผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อวงวิชาการนั้น ๆ”
หนังสือ หมายถึง “งานวิชาการที่เกิดจากการค้นคว้าศึกษาความรู้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างรอบด้านและลึกซึ้ง
มีการวิเคราะห์ สังเคราะห์และเรียบเรียงอย่างเป็นระบบ ประกอบด้วย มโนทัศน์หลักที่เป็นแกนกลางและมโนทัศน์ย่อยที่สัมพันธ์กัน
มีความละเอียดลึกซึ้ง ใช้ภาษาที่เป็นมาตรฐานทางวิชาการ
ให้ทัศนะของผู้เขียนที่สร้างเสริมปัญญา
ความคิดและสร้างความแข็งแกร่งทางวิชาการให้แก่สาขาวิชานั้น ๆ หรือสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง
เนื้อหาของหนังสือไม่จำเป็นต้องสอดคล้องหรือเป็นไปตามข้อกำหนดของหลักสูตรหรือวิชาใดวิชาหนึ่งในหลักสูตร
และไม่จำเป็นต้องนำไปใช้ประกอบการเรียนการสอนในวิชาใดวิชาหนึ่ง”
จากนิยามความหมายของตำราและหนังสือข้างต้น
ความแตกต่างที่ชัดเจนจึงอยู่ที่ “ตำราต้องกำหนดเนื้อหาสาระให้เป็นไปตามหลักสูตรใช้สำหรับการเรียนการสอนสาระความรู้ของหลักสูตรทั้งวิชาหรือส่วนหนึ่งของวิชา” ในขณะที่ “หนังสือเน้นการสร้างความแข็งแกร่งทางวิชาการในสาขาวิชาต่าง
ๆ โดยเนื้อหาสาระไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับหลักสูตร”
คำถามข้อที่ 2 ตำราและหนังสือ
อะไรจัดทำได้ง่ายกว่ากัน
คำตอบคือ คำถามดังกล่าวนับว่าเป็น “คำถามยอดนิยม”
ของผู้เริ่มต้นในการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ ที่ยังมิได้ศึกษาหรือยังศึกษาไม่ลึกซึ้งเกี่ยวกับความแตกต่างของตำราและหนังสือ
จึงยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะจัดทำตำราหรือหนังสือเพื่อขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ
สำหรับคำตอบตามทรรศนะของผู้เขียนนั้นตำราและหนังสือมีความยากง่ายไม่แตกต่างกัน
โดยมีจุดเน้นที่แตกต่างกันอยู่บ้างดังกล่าวแล้ว
ดังนั้นคณาจารย์ที่มีความประสงค์จะจัดทำตำราหรือหนังสือนั้น
จะดำเนินการภายใต้ขอบเขตของตำราและหนังสือที่ได้กล่าวถึงแล้วในคำถาม-คำตอบข้อที่ 1
ผู้จัดทำผลงานจึงต้องถามตัวเองว่า มีความสนใจและมีความถนัดอยู่ในขอบเขตของสาระที่อยู่ภายใต้ขอบเขตที่กำหนดไว้แล้วในคำอธิบายรายวิชาของหลักสูตรก็ให้เลือกที่จะจัดทำ
“ตำรา” แต่ถ้าหากว่าผู้จัดทำต้องการนำเสนอสาระวิชาต่าง ๆ
ในลักษณะหลากหลายแง่มุมตามบริบทของความสนใจ ความเปลี่ยนแปลงของสาระความรู้นั้น ๆ
ภายใต้แนวคิดอิสระที่มีเหตุผลรองรับในการนำเสนอ
โดยไม่ต้องกำหนดกรอบให้ผูกพันกับคำอธิบายรายวิชาใด ๆ ของหลักสูตรก็ให้เลือกที่จะจัดทำ
“หนังสือ”นั่นเอง
คำถามข้อที่ 3 เกณฑ์การประเมินของหนังสือและตำราแตกต่างกันอย่างไร
คำตอบคือ อย่างที่ทราบกันแล้วจากคำถาม-คำตอบข้อที่ 1 ว่าตำราและหนังสือมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนในกรณีตำราที่ผูกโยงกับคำอธิบายรายวิชา
ในขณะที่หนังสือเนื้อหาสาระไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับรายวิชาในหลักสูตรก็ได้ ดังนั้น เมื่อมีการกำหนดเกณฑ์การประเมินของตำราและหนังสือ
จึงได้นำจุดที่แตกต่างดังกล่าวมาเป็นส่วนหนึ่งของเกณฑ์การประเมินด้วย
อย่างไรก็ตามมีบางรายการประเมินที่เหมือนหรือคล้ายคลึงกัน
ดังตารางเปรียบเทียบ ต่อไปนี้
คำถามข้อที่ 4
จะใช้ตำราและหนังสือในการเสนอขอตามประกาศ ก.พ.อ. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์
รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ พ.ศ......... ได้อย่างไรบ้าง
คำตอบคือ ผู้เขียนขออ้างอิงถึงประกาศ ก.พ.อ. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ พ.ศ.2564 มานำเสนอให้เห็นว่า มีช่องทางในการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ
โดยใช้ตำราและหนังสือในการเสนอขอ ดังนี้
คำถามที่
5 จัดทำตำราหรือหนังสืออย่างไร ให้โดนใจผู้ประเมิน
คำตอบคือ การที่จะทำให้ตำราหรือหนังสือ
“โดนใจ” ผู้ประเมินนั้น การจัดทำผลงานทางวิชาการประเภทตำราและหนังสือต้องมีความชัดเจนในเรื่องของการกำหนดจุดเด่นของตำราและหนังสือ
และวิธีการและเทคนิคต่างๆ ในการจัดทำให้ตำราและหนังสือมีทั้งโครงร่าง สาระสำคัญ
ลีลาการนำเสนอที่มีความสร้างสรรค์ ถูกต้อง สมบูรณ์
เหมาะสมที่จะเป็นผลงานทางวิชาการ ดังนี้
5.1
การคำนึงถึงลักษณะเด่นของตำราและหนังสือ ได้แก่
1)
กำหนดความน่าใจ โดยพิจารณาจากชื่อเรื่อง รูปเล่ม จำนวนบท จำนวนหน้าที่เหมาะสม ภาพประกอบที่เกี่ยวข้องและน่าสนใจ
2) มีสาระถูกต้องสมบูรณ์ ตรงตามชื่อเรื่อง ตรงตามหลักสูตร ครอบคลุม ทันสมัย อ้างอิงถูกต้องและเป็นไปในรูปแบบเดียวกัน
3)
มีความน่าเชื่อถือและมีคุณค่า ประกอบด้วย แนวคิด หลักการ สมเหตุสมผล สามารถนำไปปฏิบัติและประยุกต์ใช้ได้
4)
มีการสื่อสารที่ดี สามารถสื่อความได้ชัดเจน กะทัดรัด สาระมีความต่อเนื่อง
5)
มีการขยายความชัดเจน ด้วยการวิเคราะห์ สังเคราะห์ อธิบายความได้ครบถ้วน มีงานวิจัยรองรับ มีตัวอย่าง มีกรณีศึกษาเพื่อการเรียนรู้
6)
มีความเป็นปัจจุบันทางวิชาการ มีความใหม่ ที่ได้มาจากการค้นคว้าจากเอกสาร วารสาร
ตำรา ข้อค้นพบของงานวิจัยใหม่ ๆ นำมาใช้ประกอบในการจัดทำ
5.2
เทคนิคการจัดทำตำราและหนังสือให้มีคุณภาพ
ควรดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้
1)
การกำหนดภาพรวมในการจัดทำตำราและหนังสือตามแนวทาง “คิด ค้นคว้า วิเคราะห์
สังเคราะห์” ประกอบด้วย
“คิด”
- กำหนดโครงร่างความคิดคร่าว ๆ ของตำราและหนังสือที่จะเขียนให้เป็นไปตามเกณฑ์คุณภาพ
และสอดคล้องกับสาขาวิชาที่ขอกำหนดตำแหน่ง
“ค้นคว้า” - ค้นคว้า
ติดตามความก้าวหน้าของศาสตร์นั้น ๆ และที่เกี่ยวข้องตามโครงร่างความคิด
บันทึกรายละเอียดในขั้นต้น จัดทำรายการอ้างอิงและบรรณานุกรม(ชั่วคราว)
“วิเคราะห์ สังเคราะห์” - วิเคราะห์ สังเคราะห์
จัดหมวดหมู่ เรียบเรียงเป็นตำราและหนังสือตามโครงร่าง
จัดทำรายการอ้างอิงและบรรณานุกรม(ฉบับจริง)
2)
การกำหนดโครงร่างของตำราและหนังสือ
ประกอบด้วย
(1)
เขียนโครงร่างชั่วคราว
(2)
กำหนดหัวข้อหลักให้สอดคล้องกับโครงร่างชั่วคราว
(3)
กำหนดหัวข้อย่อยให้เรียงลำดับเนื้อเรื่อง
(4)
กำหนดสาระในหัวข้อย่อยให้มีความยาวที่ใกล้เคียงกัน
3) การศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจัง ภายใต้ “เทคนิคการอ่าน”
“เทคนิคการจดบันทึก” “เทคนิคการทำรายการอ้างอิงและบรรณานุกรมชั่วคราว” และ “เทคนิคการเรียบเรียงข้อมูลเป็นตำราและหนังสือ” ดังนี้
(1) อ่านตามโครงร่างที่กำหนด
(2) อ่านเร็วๆ ในลักษณะ “จับแต่ประเด็นสำคัญ” เพื่อสกัดสาระที่ไม่เกี่ยวข้องออกไป ทั้งนี้
ไม่ต้องอ่านถ้าไม่ตรงกับหัวข้อที่วางไว้
(3) อ่านแบบละเอียดในส่วนที่เป็นประเด็นสำคัญ
เพื่อการวิเคราะห์ สังเคราะห์ เรียบเรียง เป็นสาระในตำราและหนังสือ
(1) จดบันทึกทุกคำ ถ้าต้องการนำข้อความตอนนั้นไปอ้างอิง กรณีจดไม่เกิน 40 คำให้ใส่เครื่องหมายอัญประกาศ (“-------”) ถ้าเกิน 40 คำ ให้พิมพ์ เว้นหน้า และหลัง จากคั่นหน้าปกติ เพื่อให้เห็นชัดเจนว่าเป็นการลอกข้อความโดยตรง (Direct Quotation)
(2) จดประเด็นสำคัญจากการอ่าน โดยใช้สำนวนภาษาของผู้เขียนเอง ไม่ควรลอกข้อความทั้งหมด
(3) ขณะจดบันทึก หากผู้เขียนมีข้อคิดเห็นเพิ่มเติม หรือข้อวิพากษ์ วิจารณ์ ให้จดบันทึกไว้ด้วย (โดยหมายเหตุว่าเป็นข้อคิดของผู้เขียน เพื่อไม่ให้สับสนในตอนเขียนตำราและหนังสือว่าเป็นการอ้างอิงความคิดของผู้อื่น หรือเป็นของผู้เขียนเอง)
“เทคนิคการทำรายการอ้างอิงและบรรณานุกรมชั่วคราว” ประกอบด้วย
(1) จัดทำรายการอ้างอิงและบรรณานุกรม (ชั่วคราว) อย่างต่อเนื่องตลอดการค้นคว้า รวบรวม วิเคราะห์ สังเคราะห์ และเรียบเรียง เพื่อเป็นร่องรอยในการอ้างอิงหลักฐานในการเขียน และจัดทำบรรณานุกรม (ฉบับจริง)
(2) จดรายละเอียดของเอกสาร ตำราและหนังสือ
ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการอ้างอิง เช่น รหัสหนังสือ สาระย่อของแต่ละบทในกรณีที่อาจมีความจำเป็นต้องกลับไปค้นคว้าเพิ่มเติม
(1) เมื่อรวบรวมข้อมูลได้ครบตามโครงร่างที่กำหนดไว้แล้ว ให้เริ่มเขียนทีละหัวข้อไปจนครบถ้วนตามโครงร่างที่กำหนด
(2) ควรเขียนแต่ละหัวข้อย่อย ให้ครบก่อนขึ้นหัวข้อต่อไป
(3) หากพบว่าข้อมูลในหัวข้อใดมีสาระไม่เพียงพอ ให้ค้นคว้าเพิ่มเติม เพื่อให้สาระของแต่ละหัวข้อมีความสมบูรณ์ครบถ้วน
(4) ควรพิจารณาถึงเกณฑ์คุณภาพของตำราและหนังสือตลอดการจัดทำ เพื่อให้ผลงานมีคุณลักษณะครบถ้วนและมีคุณภาพสอดคล้องกับเกณฑ์ ฯ โดยให้มีลักษณะเด่นทั้ง 6 ประการดังกล่าวข้างต้น
(5) ความสำคัญกับการตรวจทานความถูกต้อง ความสมบูรณ์ และลักษณะเด่นของสาระ รวมทั้งตรวจสอบการอ้างอิงและบรรณานุกรม
อย่างไรก็ตาม
ผู้เขียนเชื่อว่า คำตอบของคำถามที่ว่า “จัดทำตำราและหนังสืออย่างไรให้โดนใจผู้ประเมิน” นั้น คณาจารย์ทุกท่านจะเป็นผู้แสวงหาคำตอบได้ด้วยตนเอง
โดยอาจใช้แนวทางของคำถาม-คำตอบทั้ง 5
ข้อข้างต้น ผสมผสานกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนคณาจารย์ แล้วกำหนดแนวทางเป็นของตนเองเพื่อให้ถึง “เป้าหมายการดำรงตำแหน่งทางวิชาการที่สูงขึ้น”
ด้วยความมุ่งมั่น จริงจัง
และอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ อันจะนำไปสู่ความสำเร็จที่รอคอยอยู่เบื้องหน้า ต่อไป
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น