สาระสำคัญเพื่อการเรียนรู้ และทำความเข้าใจ“จิตสาธารณะ”

 

สาระสำคัญเพื่อการเรียนรู้ และทำความเข้าใจ“จิตสาธารณะ”

                                                                                          * ศาสตราจารย์ ดร.วิโฬฏฐ์  วัฒนานิมิตกูล

              ความเจริญด้านเทคโนโลยีต่างๆ ส่งผลกระทบต่อบุคคลในสังคมโดยทั่วไปให้มีค่านิยมในการให้ความสำคัญกับการแสวงหาอำนาจบารมีมากกว่าที่จะให้ความสำคัญทางด้านจิตใจ เกิดการเอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน มุ่งแสวงหาผลประโยชน์ให้แก่ตนเองมากกว่าส่วนรวม ด้วยเหตุนี้ในปัจจุบันจึงมีการกล่าวถึงคำว่า “จิตสาธารณะ” เพื่อให้ผู้คนได้ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสาธารณะมากกว่าตนเอง    โดยการปลูกฝังให้และเยาวชนและบุคคลทั่วไปได้รู้จักรับผิดชอบต่อตนเองและสังคมหรือสาธารณะ

            ผู้เขียนจึงขอเสนอสาระสำคัญเกี่ยวกับ “จิตสาธารณะ” เพื่ออำนวยประโยชน์ต่อการเรียนรู้และทำความเข้าใจจิตสาธารณะ อันจะนำไปสู่การร่วมกันพัฒนาคุณลักษณะ “จิตสาธารณะ” ให้แก่เยาวชนและบุคคลทั่วไป  ประกอบด้วยสาระสำคัญเกี่ยวกับความหมาย ความสำคัญ องค์ประกอบ  การก่อรูปพฤติกรรม ขอบเขต และปัจจัยต่าง ๆ รวมทั้งคุณลักษณะของบุคคลที่มีจิตสาธารณะ ดังต่อไปนี้

 ความหมายของจิตสาธารณะ

         คำว่า “จิตสาธารณะ” มีการใช้คำอื่นๆ ในภาษาไทยที่มีความหมายที่เป็นนัยเดียวกันหลายคำ ได้แก่ จิตสำนึกทางสังคม จิตอาสา จิตสำนึกต่อส่วนรวม และจิตสำนึกสาธารณะ เป็นต้น ส่วนในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Public Mind หรือ Public Consciousness

         จิตสาธารณะเป็นคุณลักษณะทางจิตใจที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน อาสาที่จะดูแลช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความลำบากหรือผู้ที่ร้องขอความช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้ในแง่มุมต่างๆ อย่างหลากหลาย ตลอดจนร่วมมือกระทำเพื่อช่วยกันแก้ปัญหา แต่ต้องไม่ขัดต่อกฎระเบียบที่วางไว้  เพื่อรักษาประโยชน์ที่เกิดขึ้นโดยรวม

         จึงสรุปได้ว่า จิตสาธารณะ หมายถึง คุณลักษณะทางจิตใจของบุคคลที่ให้คุณค่าแก่บุคคลอื่นและสังคมโดยรวม  มีความปรารถนาดีและมีความรับผิดชอบตามสิทธิและหน้าที่ของสมาชิกของสังคม มีคุณธรรม จริยธรรม มุ่งประพฤติในสิ่งที่เอื้อประโยชน์ต่อสังคม และหลีกเลี่ยงการประพฤติใดๆ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสังคมนั้นๆ

 ความสำคัญของจิตสาธารณะ

         จิตสาธารณะเป็นคุณลักษณะทางจิตใจของบุคคลที่นับเป็นกลไกสำคัญของสังคมที่สงบสุข และมีคุณภาพ            ดังจะเห็นได้จากการระบุให้มีการสร้างเสริมจิตสาธารณะให้แก่บุคคลไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ แผนการศึกษาแห่งชาติ หลักสูตรในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมทั้งการกำหนดเป็นวิสัยทัศน์ พันธกิจของสถาบันการศึกษา และการกำหนดให้เป็นอัตลักษณ์ของผู้เรียน เป็นต้น ซึ่งในที่นี้ผู้เขียนขอนำเสนอให้เห็นความสำคัญของจิตสาธารณะ ดังนี้

         1. จิตสาธารณะในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545

             พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545            ได้กำหนดแนวการจัดการศึกษาเพื่อให้ได้คุณภาพและมาตรฐาน  ในหมวด 4 มาตรา 6 “การจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข” และมาตรา 7 “กระบวนการเรียนรู้ต้องมุ่งปลูกฝังจิตสำนึกที่ถูกต้อง. . .  รู้จักรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมและของประเทศชาติ . . . .”

         2. จิตสาธารณะในแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2579

             แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2579 ได้กำหนดเป็นปัญหาและความท้าทายที่เกิดจากระบบการศึกษาไว้ 6 ประการ โดยในประการที่ 6 ระบุว่า คนไทยส่วนใหญ่ยังมีปัญหาด้านคุณธรรม จริยธรรม และไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการมีวินัย   ความซื่อสัตย์สุจริต และการมีจิตสาธารณะ

             พร้อมทั้งกำหนดยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาศักยภาพทุกช่วงวัยและการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้  ได้กำหนดวัตถุประสงค์ เป้าหมาย ตัวชี้วัด และแนวทางการพัฒนาที่เกี่ยวกับจิตสาธารณะไว้ ดังนี้

             วัตถุประสงค์ ข้อ 1.3 เพื่อให้คนทุกช่วงวัยได้รับการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพที่เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัย โดยระบุไว้ในข้อย่อย 3) ผู้เรียนได้รับการพัฒนาอย่างมีคุณภาพทั้งความรู้ ทักษะอาชีพ ทักษะชีวิต ทักษะการทำงานที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดงาน รวมทั้งมีคุณธรรม จริยธรรม มีจิตสาธารณะ และสามารถปรับตัวอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้

             เป้าหมาย ข้อ 2.1 ผู้เรียนมีทักษะและคุณลักษณะพื้นฐานของพลเมืองไทย และทักษะและคุณลักษณะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 โดยระบุตัวชี้วัด ในข้อย่อย 2) ร้อยละของผู้เรียนทุกระดับการศึกษามีพฤติกรรมที่แสดงออกถึงความมีวินัย และ มีจิตสาธารณะเพิ่มขึ้น และในข้อย่อย 3) ร้อยละของสถานศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นหรือเทียบเท่าขึ้นไปที่จัดกิจกรรมสะท้อนการสร้างวินัย จิตสาธารณะ และคุณลักษณะที่พึงประสงค์เพิ่มขึ้น  พร้อมทั้งกำหนดแนวทางในการพัฒนา ในข้อ 3.3 สร้างเสริมและปรับเปลี่ยนค่านิยมของคนไทยให้มีวินัย จิตสาธารณะและพฤติกรรมที่พึงประสงค์ ในข้อย่อยที่  2) ส่งเสริม สนับสนุนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนทั้งในและนอกห้องเรียน และกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกันของครอบครัว กลุ่มสนใจ และชุมชนที่สอดแทรกคุณธรรม จริยธรรม ความมีวินัย  จิตสาธารณะ รวมทั้งบูรณาการศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ดนตรี กีฬา เข้ากับกระบวนการเรียนรู้และวิถีชีวิต

         3. จิตสาธารณะในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551และมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดฯ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2560) ได้กำหนดให้จิตสาธารณะเป็นสาระสำคัญในการสร้างเสริมให้แก่เยาวชนไว้ในหลายส่วนของหลักสูตร ดังนี้

             จุดหมาย ในข้อที่ 5 มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย การอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อม มีจิตสาธารณะที่มุ่งทำประโยชน์และสร้างสิ่งที่ดีงามในสังคม และอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข พร้อมทั้งกำหนดคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ไว้ในข้อ 8 มีจิตสาธารณะ  โดยกำหนดแนวทางการดำเนินงานไว้ในข้อ 2 จัดการเรียนรู้โดยบูรณาการ/สอดแทรกเกี่ยวกับจิตสาธารณะในกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่นๆ อีก 7 กลุ่มสาระฯ ได้อย่างหลากหลาย  และข้อ 5 ส่งเสริม/พัฒนา/ปลูกฝังจิตสาธารณะในบริบทต่างๆ โดยสอดแทรกในการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้เรียน

           นอกจากนี้สถาบันการศึกษาบางแห่งได้นำคำว่า “จิตสาธารณะ” ไปกำหนดเป็น ปณิธาน วิสัยทัศน์ พันธกิจ วัตถุประสงค์ และอัตลักษณ์ของผู้เรียน ดังตัวอย่างเช่น

             1. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำหนดพันธกิจไว้ในข้อ 1 ว่า “สร้างบัณฑิตที่มีความสามารถด้านวิชาการ มีทักษะ ทันสมัย มีจิตสาธารณะ และมีความเป็นผู้นำ

             2. มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา กำหนดอัตลักษณ์ของบัณฑิตไว้ว่า “มีจิตสาธารณะ ทักษะสื่อสารดี และมีความเป็นไทย

             3. มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ กำหนดอัตลักษณ์บัณฑิตไว้ว่า “บัณฑิตมีทักษะชีวิต  จิตสาธารณะ และสู้งาน

             4. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กำหนดวัตถุประสงค์ของการดำเนินงาน ข้อที่ 1 ไว้ว่า  “เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีคุณธรรม จริยธรรม มีจิตสาธารณะ มีความรู้ความสามารถ และทักษะในระดับมาตรฐานสากล ...

             5. มหาวิทยาลัยรามคำแหง กำหนดปณิธานไว้ว่า “พัฒนามหาวิทยาลัยรามคำแหง ให้เป็นแหล่งวิทยาการแบบตลาดวิชา มุ่งผลิตบัณฑิตที่มีความรู้คู่คุณธรรม และจิตสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคม”

องค์ประกอบของจิตสาธารณะ

         จากการพิจารณาความหมายของจิตสาธารณะดังกล่าวข้างต้น ซึ่งให้ความสำคัญเกี่ยวกับ “คุณลักษณะทางจิตใจของบุคคลที่ให้คุณค่าแก่บุคคลอื่น และสังคมโดยรวม” ที่นับว่าเป็น “มิติภายใน” ซึ่งบุคคลต้องรับรู้ ทำความเข้าใจ และตัดสินใจที่จะแสดงพฤติกรรมจิตสาธารณะ หลังจากนั้นจึงแสดงออกเป็นพฤติกรรมจิตสาธารณะที่เป็น “มิติภายนอก” ซึ่งผู้เขียนนำเสนอมิติทั้ง 2 มิติเป็นภาพดังต่อไปนี้


ภาพที่ 1.1  องค์ประกอบของจิตสาธารณะ

         จากภาพองค์ประกอบของจิตสาธารณะข้างต้น แสดงให้เห็นถึงองค์ประกอบของจิตสาธารณะใน 2 มิติ กล่าวคือ

         มิติภายใน  ประกอบด้วยองค์ประกอบ 2 องค์ประกอบ ได้แก่

              องค์ประกอบที่ 1 ความรู้ความเข้าใจ บุคคลที่มีคุณลักษณะจิตสาธารณะจะเป็นผู้ที่รับรู้เกี่ยวกับสภาพการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางจิตสาธารณะ  โดยเรียนรู้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพการณ์นั้นๆ ว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องใด อย่างไร และหากต้องเข้าไปกระทำจะต้องทำอะไรอย่างไร

             องค์ประกอบที่ 2  การตัดสินใจที่จะแสดงพฤติกรรม บุคคลที่มีคุณลักษณะจิตสาธารณะ จะพิจารณาการรับรู้และเรียนรู้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพการณ์ในองค์ประกอบที่ 1 แล้วตัดสินใจที่จะแสดงพฤติกรรมภายใต้หลักเกณฑ์ของแต่ละบุคคล

         มิติภายนอก ในมิตินี้เป็นองค์ประกอบที่ 3 การแสดงพฤติกรรมจิตสาธารณะ ได้แก่ การให้ความสำคัญในการลงมือกระทำ การถือเป็นหน้าที่ที่ต้องทำเพื่อส่วนรวม และการหลีกเลี่ยงการกระทำที่เป็นปัญหาต่อส่วนรวม

การก่อรูปพฤติกรรมจิตสาธารณะ

         การก่อรูปพฤติกรรมจิตสาธารณะมีลำดับของความสัมพันธ์ขององค์ประกอบของจิตสาธารณะ ทั้ง 3 องค์ประกอบ ดังนี้

         ขั้นที่ 1  การสร้างความรู้ความเข้าใจเชิงจิตสาธารณะ เป็นกระบวนการที่บุคคลเรียนรู้เกี่ยวกับปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลนั้นๆ กับสถานการณ์ในสังคม การรับรู้การเป็นสมาชิกของสังคม การตระหนักในผลกระทบของสถานการณ์ในสังคมต่อตัวบุคคลเอง และต่อสังคมนั้นๆ การคิดค้น การกำหนดแนวทางในการปฏิบัติและการเข้ามีส่วนร่วมในสถานการณ์ดังกล่าว  เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจเชิงจิตสาธารณะต่อสถานการณ์ในสังคมนั้น

         ขั้นที่ 2  การตัดสินใจเชิงจิตสาธารณะ เป็นกระบวนการที่บุคคลใช้หลักการหรือเหตุผลของตัวบุคคลเองในการตัดสินใจเข้าไปมีส่วนร่วมในสถานการณ์ของสังคมนั้นๆ ตามที่มีความรู้ความเข้าใจเชิงจิตสาธารณะกับสถานการณ์ของสังคมดังกล่าว

         ขั้นที่ 3  การแสดงพฤติกรรมเชิงจิตสาธารณะ เป็นกระบวนการที่บุคคลแสดงพฤติกรรมเชิงจิตสาธารณะ ตามที่มีความรู้ความเข้าใจ และตัดสินใจเชิงจิตสาธารณะไว้แล้ว  โดยที่พฤติกรรมที่แสดงออกดังกล่าวอยู่ภายใต้หลักการของการให้ความสำคัญกับสถานการณ์นั้นๆ การถือเป็นหน้าที่ที่จะมีส่วนร่วมในสถานการณ์ และการหลีกเลี่ยงการกระทำที่จะก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมนั้นๆ        

         ด้วยความสัมพันธ์ขององค์ประกอบของจิตสาธารณะดังกล่าว  เมื่อนำมาพิจารณากระบวนการก่อรูปจิตสาธารณะกับการแสดงพฤติกรรมจิตสาธารณะในสถานการณ์ต่างๆของสังคม นำเสนอได้ดังนี้


 
ภาพที่ 1.2  ความสัมพันธ์ของการก่อรูปจิตสาธารณะกับจิตสาธารณะในสถานการณ์ของสังคม

             จากภาพข้างต้นแสดงถึงความสัมพันธ์ของการก่อรูปจิตสาธารณะ โดยนำไปเชื่อมโยงกับสถานการณ์ในสังคม เพื่อแสดงให้เห็นการแสดงพฤติกรรมจิตสาธารณะในสถานการณ์ของสังคม ภายใต้ความสัมพันธ์ขององค์ประกอบจิตสาธารณะ

 ขอบเขตของจิตสาธารณะ

         บุคคลจะแสดงพฤติกรรมจิตสาธารณะได้อย่างกว้างขวาง ในหลายแง่มุม กล่าวคือ ภายใต้สถานการณ์หนึ่งๆ บุคคลต่างๆ ที่ได้ปะทะกับสถานการณ์นั้นๆ จะทำความรู้ความเข้าใจกับสถานการณ์นั้นว่าเป็นสถานการณ์อะไร มีช่องทางใดบ้างที่บุคคลจะเข้าไปเกี่ยวข้อง ทั้งในลักษณะเป็นตามบทบาทหน้าที่หรืออาสาสมัคร เพื่อให้สถานการณ์นั้นๆ เกิดความราบรื่น เรียบร้อย สมบูรณ์ จากนั้นบุคคลจึงพิจารณาและประเมินความสามารถของตน รวมทั้งความเป็นไปได้ในการแสดงพฤติกรรมในช่องทางต่างๆ แล้วตัดสินใจเลือกช่องทางที่จะแสดงพฤติกรรม จิตสาธารณะ และแสดงพฤติกรรมจิตสาธารณะตามช่องทางที่ได้เลือกไว้

         ดังนั้น ขอบเขตของพฤติกรรมจิตสาธารณะที่บุคคลต่างๆ แสดงออกในสถานการณ์หนึ่งๆ ย่อมมีความแตกต่างกันไปตามความรู้ความเข้าใจ การตัดสินใจ และการแสดงพฤติกรรมจิตสาธารณะของบุคคลนั้นๆ

 ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับจิตสาธารณะ

         จิตสาธารณะเป็นคุณลักษณะทางจิตใจของบุคคลที่ให้คุณค่าแก่บุคคลอื่นและสังคมโดยรวม  การเกิดจิตสาธารณะนั้นจึงเป็นสิ่งที่เกิดตามวิถีของแต่ละบุคคล  รวมทั้งสภาพแวดล้อมต่างๆ ตั้งแต่ระดับครอบครัว และชุมชน ล้วนมีผลต่อการพัฒนาจิตสาธารณะของบุคคลทั้งสิ้น  จึงกล่าวได้ว่า จิตสาธารณะอยู่ภายใต้อิทธิพลจากปัจจัยแวดล้อมภายนอกและภายใน ดังนี้

         ปัจจัยภายนอก เป็นปัจจัยที่เกี่ยวกับภาวะทางสัมพันธภาพของมนุษย์ ภาวะทางสังคม เริ่มตั้งแต่พ่อแม่ พี่น้อง ญาติ เพื่อน ครู สื่อมวลชน บุคคลทั่วไป  ตลอดจนระดับองค์กร วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ กฎหมาย ศาสนา เป็นภาวะที่มีผลต่อจิตสำนึกด้านต่างๆ ของมนุษย์ เป็นภาวะที่ได้รับการอบรมกล่อมเกลา และสะสมอยู่ในส่วนของการรับรู้ ทีละเล็กทีละน้อย จนทำให้เกิดสำนึกที่มีรูปแบบที่หลากหลาย

         ปัจจัยภายใน  เป็นปัจจัยที่เกี่ยวกับการคิดวิเคราะห์ของแต่ละบุคคลในการพิจารณาตัดสินคุณค่าและความดีงาม  ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมและการประพฤติปฏิบัติ   และมีผลทางด้านจิตใจในการขัดเกลาตนเองให้เป็นไปทางใดทางหนึ่ง  ซึ่งเกิดจากการรับรู้ การเรียนรู้ การมองเห็น การคิดวิเคราะห์ แล้วนำมาประกอบการพิจารณาเพื่อตัดสินใจ รวมทั้งการฝึกฝนและสั่งสมสำนึกเหล่านั้น

         ดังนั้นการสร้างเสริมจิตสาธารณะในแต่ละบุคคลจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยทั้ง 2 ส่วนดังกล่าวให้มีลักษณะที่สนับสนุนซึ่งกันและกัน เพื่อทำให้การสร้างเสริมจิตสาธารณะดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ

คุณลักษณะทั่วไปของผู้ที่มีจิตสาธารณะ

         ผู้มีจิตสาธารณะ มีคุณลักษณะทั่วไป ดังนี้

             1. มีความรับผิดชอบต่อสังคม คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม ไม่เห็นแก่ตัว มีความทุ่มเทและอุทิศตน 

             2. มีความตระหนักถึงผู้อื่น มีความเข้าใจผู้อื่น เคารพความแตกต่างระหว่างบุคคล 

             3. มีวิสัยทัศน์ในการคิด พิจารณาและกำหนดแนวทางในการปฏิบัติ

             4. มีความรัก เอื้ออาทรต่อผู้อื่น

             5. มีจิตใจที่เปิดกว้าง

             6. มีความคิดในทางบวก

             7. มีความใฝ่รู้ มีความคิดสร้างสรรค์

             8. เรียนรู้ที่จะปฏิบัติงานร่วมกับผู้อื่น และมีเครือข่ายในการดำเนินงาน

             9. มีการสื่อสารที่ดี

             10. เคารพในกฎหมาย กฎเกณฑ์ ระเบียบข้อบังคับต่างๆ ของสังคม 

               สาระสำคัญเกี่ยวกับจิตสาธารณะที่ผู้เขียนนำเสนอนี้ คงทำให้ผู้อ่านได้ตระหนักถึงความสำคัญของจิตสาธารณะและมีแรงบันดาลใจที่จะร่วมกันสร้างเสริมจิตสาธารณะให้เกิดขึ้นแก่ผู้เรียนและบุคคลทั่วไปด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับบทบาทหน้าที่และภารกิจของแต่ละบุคคล หน่วยงาน และองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพต่อไป 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

จัดทำตำราและหนังสืออย่างไรให้”โดนใจ”ผู้ประเมิน

เจาะลึก... ตำแหน่งทางวิชาการเฉพาะด้าน (ไม่ยากเกินความสามารถ)

เทคนิคการสร้างองค์ความรู้