เทคนิคการสร้างองค์ความรู้

                  เทคนิคการสร้างองค์ความรู้

                                                      : (2) เทคนิค คิด ค้น คิด(3 ค.)

* ศาสตราจารย์ ดร.วิโฬฏฐ์  วัฒนานิมิตกูล

                   “เทคนิค คิด ค้น คิด(3 ค.)” เป็นหนึ่งในเทคนิคการสร้างองค์ความรู้ที่ผู้เขียนนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อ่านทุกท่าน   ในครั้งก่อนได้นำเสนอ "เทคนิคการกำหนดต้นทางความคิด” ซึ่งเป็นกลวิธีในการคิดค้นและสร้างองค์ความรู้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง  สำหรับ “เทคนิค คิด ค้น คิด(3 ค.)” ที่นำเสนอในครั้งนี้เป็นเทคนิคย่อย ๆ ที่นำมาเสนอสำหรับผู้ที่ต้องการปรับเปลี่ยนวิธีการศึกษา ค้นคว้า และเรียนรู้สาระต่าง ๆ กล่าวได้ว่า หากนำเทคนิคนี้ไปใช้บ่อย ๆ อย่างต่อเนื่องจะเกิด “ความคุ้นชิน” และในที่สุดจะปรับเปลี่ยน  “พฤติกรรมการศึกษา ค้นคว้า และเรียนรู้” ไปโดยอัตโนมัติ

“เทคนิค คิด ค้น คิด(3 ค.)” นับเป็นเทคนิคที่ขจัดปัญหาสำคัญที่เป็นอุปสรรคในการคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ กล่าวคือ บุคคลโดยทั่ว ๆ ไปมักจะมีความคิด ความเชื่อเดิม ๆ หรือคิดแบบเดิม ๆ ที่เคยปฏิบัติกันมา  จึงเป็นการนำสิ่งเดิม ๆ เหล่านั้นมาปิดกั้นความคิดใหม่ ๆ ไม่ให้เกิดขึ้น “เทคนิค คิด ค้น คิด(3 ค.)”ช่วยให้บุคคลที่นำไปใช้เกิดมุมมองในหลาย ๆ ด้าน โดยไม่ยึดติดกับหลักการ เหตุผล ทฤษฎี แนวคิดใดแนวคิดหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียว แต่กลับจะเกิดมุมมองว่า สาระทุก ๆ สิ่งมีหลายมุมมองในการพิจารณาและทุก ๆ บุคคลล้วนสามารถสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ได้ด้วยตนเอง   

                   “เทคนิค คิด ค้น คิด(3 ค.)” ประกอบด้วย กลไกย่อย ๆ  3 ส่วน คือ (1) การเริ่มคิด (2) การค้นคว้า (3) การประมวลความคิด มีลักษณะเป็นวงจรต่อเนื่องไปอย่างไม่สิ้นสุด  จะช่วยสร้างองค์ความรู้ให้ขยายวงเพิ่มขึ้น ๆ ไปเรื่อย ๆ ดังแผนภาพที่นำเสนอ ดังนี้ 



แผนภาพ   การสร้างองค์ความรู้ใหม่ภายใต้ “เทคนิค คิด ค้น คิด (3 ค.)”ตามแนวคิดของผู้เขียน

  

               จากแผนภาพ เทคนิค คิด ค้น คิด (3 ค.)”  ประกอบด้วย การเริ่มคิด การค้นคว้า  และการประมวลความคิด  โดยมีวิธีการดังนี้

                     ค. “การเริ่มคิด” เป็นการคิดอย่างอิสระ และหลากหลายเกี่ยวกับประเด็นที่สนใจ  ซึ่งอาจมีที่มาจากความสนใจส่วนตัว ภาระงานที่ปฏิบัติ ประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ทำให้ได้รับความรู้เพิ่มขึ้น หรืออาจเป็นประเด็นที่เป็นนโยบาย หรือสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงแล้วส่งผลให้เกิดการคิดในแง่มุมต่าง ๆ

                     ค. “การค้นคว้า  เป็นการหาคำตอบหรือแนวทางต่าง ๆ  ซึ่งจะส่งผลให้ผู้คิดค้นเองเกิดความกระจ่างในประเด็นที่สนใจ และพิจารณาความเป็นไปได้ของประเด็นสาระความรู้นั้น ๆ

                     ค. “การประมวลความคิด”  เป็นการคิดทบทวนประเด็นสาระความรู้ดังกล่าว ประกอบกับข้อมูลที่ได้จากการคิด และการค้นคว้า เพื่อให้ได้ประเด็นสาระความรู้ที่เป็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น มีข้อมูลรองรับมากขึ้น  ภายใต้แนวทางของหลักการ แนวคิด ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนั้น ๆ  

                 จากนั้นหมุนเวียนกลับไปสู่การเริ่มคิด การค้นคว้า และการประมวลความคิดเป็นวงจรจนได้ข้อมูลและประเด็นความรู้ต่าง ๆ ที่เพียงพอในประเด็นที่ต้องการศึกษาค้นคว้านั้น ๆ

                 หากพิจารณาในแผนภาพ “เทคนิค คิด ค้น คิด(3ค.)” ข้างต้นจะเห็นถึงความเชื่อมโยงของ “3ค.” ที่เป็นวงจรต่อเนื่องกันไปตลอด  ดังนั้น การใช้เทคนิคนี้จึงนับเป็นการสร้างองค์ความรู้อย่างต่อเนื่องและขยายวงความรู้ไปอย่างกว้างขวาง

-------------------------------

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

จัดทำตำราและหนังสืออย่างไรให้”โดนใจ”ผู้ประเมิน

เทคนิคการสร้างองค์ความรู้

เทคนิคการสร้างองค์ความรู้