เทคนิคการสร้างองค์ความรู้

 

            เทคนิคการสร้างองค์ความรู้

 : (1) เทคนิคการกำหนดต้นทางความคิด

* ศาสตราจารย์ ดร.วิโฬฏฐ์  วัฒนานิมิตกูล

                    การศึกษาค้นคว้าและเรียนรู้วิทยาการต่าง ๆ นับว่าเป็นสิ่งสำคัญยิ่งของบุคคลทั้งในแง่มุมเพื่อการดำรงชีวิตอยู่ และเพื่อการพัฒนาตนเองของบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคข้อมูลข่าวสารปัจจุบันมีสรรพสาระมากมายเพื่อการศึกษา ค้นคว้าและเรียนรู้ อย่างไรก็ตามหากบุคคลมิได้มีวิธีการในการจัดกระทำต่อข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ดังกล่าวอย่างเป็นระบบระเบียบ ย่อมได้รับประโยชน์จากสาระความรู้นั้น ๆ ในวงจำกัด อีกทั้งยังไม่สามารถต่อยอดความรู้ไปสู่การพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ            

                   เพื่อให้การศึกษา ค้นคว้า และเรียนรู้ของบุคคลเป็นไปอย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ  ผู้เขียนขอนำเสนอ “เทคนิคในการสร้างองค์ความรู้” เพื่อการนำไปปรับประยุกต์ใช้ในการสร้างองค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษา ค้นคว้า และเรียนรู้ ใน 4 เทคนิค ประกอบด้วย (1) เทคนิคการกำหนดต้นทางความคิด (2) เทคนิค คิด ค้น คิด(3 ค.)  (3) เทคนิคการวิเคราะห์และสังเคราะห์ และ (4) เทคนิคการวางโครงร่าง

                   สำหรับในบทความนี้ขอนำเสนอ “เทคนิคการกำหนดต้นทางความคิด” ดังนี้

                 เทคนิคการกำหนดต้นทางความคิดเป็นกลวิธีการคิดค้นและสร้างองค์ความรู้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งด้วยการ “กำหนดกรอบแนวคิดเบื้องต้น”  โดยมีรายละเอียดดังนี้

                 1) หลักการของการกำหนดต้นทางความคิด ในการ “กำหนดกรอบเบื้องต้น” ผู้ศึกษาควรคำนึงถึงหลักการต่อไปนี้

                     1.1) ประเด็นต่าง ๆ ที่จะคิดค้นและสร้างองค์ความรู้ควรมีที่มาจากบริบทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้ศึกษา

                     1.2) ประเด็นการคิดค้นและสร้างองค์ความรู้ ควรที่มาจากความสนใจของผู้ศึกษา ซึ่งย่อมส่งผลให้การคิดค้นและสร้างองค์ความรู้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

                     1.3) ขอบเขตของประเด็นการคิดค้นและสร้างองค์ความรู้ ควรมาจากผู้ศึกษาเป็นผู้กำหนดด้วยตนเอง

                 2) ขั้นตอนของ “เทคนิคการกำหนดต้นทางความคิด” ประกอบด้วย

                     ขั้นที่ 1  กำหนดภาพกว้างของความสนใจ

                               ขั้นตอนนี้เป็นการ “กำหนดประเด็นที่สนใจในภาพกว้างๆ” โดยยังไม่เฉพาะเจาะจง  ซึ่งประเด็นเหล่านั้นอาจมีที่มาจากบริบทต่างๆ ได้แก่ ปรัชญา  แนวคิด ทฤษฎีทางจิตวิทยา ทฤษฎีอื่นๆ รวมทั้งประเด็นความรู้ที่มีอยู่แล้ว เป็นต้น

                     ขั้นที่ 2  การแจกแจงภาพกว้างเฉพาะประเด็นที่สนใจออกเป็น “ภาพย่อย ๆ”

                               ขั้นตอนนี้เป็นการนำภาพกว้างจากขั้นตอนที่ 1 มาแจกแจงเป็นประเด็นย่อย ๆ โดยเลือกเฉพาะประเด็นย่อย ๆ ที่มีความสนใจ ทั้งนี้เพื่อให้ประเด็นที่สนใจมีความเด่นชัดขึ้น

                     ขั้นที่ 3 การจับประเด็นต่าง ๆ ที่สนใจจะศึกษาและสร้างองค์ความรู้ โดยให้สกัดประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้องออกไป

                              ขั้นตอนนี้เป็นการกลั่นกรองประเด็นย่อย ๆ ที่คัดเลือกไว้ในขั้นตอนที่ 2 ด้วยการวิเคราะห์และคัดเลือกเฉพาะประเด็นย่อย ๆ ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน ส่วนประเด็นที่เกี่ยวข้องน้อยหรือไม่เกี่ยวข้องให้สกัดประเด็นเหล่านั้นออกไป

                     ขั้นที่ 4  การกำหนดเป็น “ประเด็นที่จะคิดค้นและสร้างองค์ความรู้”

                              ขั้นตอนนี้เป็นการชี้ชัดและประมวลเป็นประเด็นต่างๆ ที่จะคิดค้นและสร้างองค์ความรู้ ต่อไป

------------------------


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

จัดทำตำราและหนังสืออย่างไรให้”โดนใจ”ผู้ประเมิน

เทคนิคการสร้างองค์ความรู้

เทคนิคการสร้างองค์ความรู้